การเฉปลา วิถีอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา ขโมยปลาด้วยรอยยิ้ม เอาปลามากินโดยไม่ต้องขออนุญาต
วิถีชุมชน ‘การเฉปลา’
ชุมชนบ้านน้ำเค็ม เป็นชุมชนทำแร่เก่าเมื่อหมดสัมปทานแร่ชาวบ้านก็เปลี่ยนอาชีพมาทำประมงเป็นหลักแบ่งเป็น 2 แบบ
- ประมงพื้นบ้าน เป็นการใช้เรือขนาดเล็ก เรือหางยาว
- ประมงพาณิช เป็นเรืออวนดำ
ซึ่งในหมู่บ้านไม่มีเรืออวนลากหรือเรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย พวกเราเป็นชาวประมงที่ใช้เรือประมงหากินและอยู่ร่วมกันมาแบบพึ่งพาอาศัย และช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น เรื่องปัญหาปากร่องตื้นเขินทำให้เรือเข้าออกไม่ได้
บ้านน้ำเค็มมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘การเฉปลา’ เปรียบเสมือนการพึ่งพา ช่วยเหลือกันของคนในหมู่บ้าน เป็นวิถีชีวิตแบ่งปันกัน เพราะว่าคนในหมู่บ้านจะมีคนที่ทำอาชีพอื่นที่ไม่มีเรือเป็นของตัวเอง ไม่ได้ออกทะเล เช่น อาชีพรับจ้างก่อสร้าง อาชีพค้าขาย หรืออาชีพอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประมง
คนเหล่านี้ก็จะมีเพื่อนบ้านที่เป็นชาวประมงออกทะเลหาปลา เวลาเรือเข้าเทียบท่าพวกเขาก็จะพกถุงพลาสติกใช้แล้วเดินไปดูที่ท่า บางคนจะออกแรงในการช่วยยกแข่งปลา ช่วยลากปลา ช่วยลงน้ำแข็ง ก่อนจะแบ่งปลาไปกิน มีสองวิธีที่ทำกันคือ
- เจ้าของเรือเป็นคนบอกให้เอาปลาไปกินได้เลย สามารถหยิบไปได้เลย
- อยากกินปลาอะไรหยิบและบอกเจ้าของว่าเอาปลาไปกินแต่ไม่ต้องรอให้อนุญาต
คำว่า “เฉ”
จริงๆแล้วเปรียบสเมือนการขโมยปลา แต่ขโมยต่อหน้าและบอกเจ้าของ ในสมัยยุคที่มีปลาเยอะๆ จะมีกลุ่มเด็กๆในหมู่บ้านไปเฉปลาตามแพปลา เด็กๆ เหล่านี้จะนำถุงติดตัวไปและหยิบปลาในเข่ง แล้วเดินกลับบ้านเลยก็มี
เพราะฉะนั้นการเฉปลาจึงเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การแบ่งปันกัน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆกับบ้านชาวประมงไม่จำเป็นต้องซื้อปลากิน เพราะสามารถไปหยิบหรือขอปลาได้เลย เจ้าของเรือบางลำคำนึงถึงคนที่ไปช่วยเขาบ่อยๆ เช่น ช่วยเข็นเรือ ซ่อมเรือ
ชาวประมงเองเมื่อจะนำเรือขึ้นมาซ่อมเขาไม่สามาถนำขึ้นฝั่งมาคนเดียวได้ ต้องขอแรงคนบ้านใกล้เรือนเคียง ในภาษาใต้เรียกว่า ‘ออกปาก’ เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้าของเรือได้ปลามาเพื่อนบ้านขอปลากิน แบ่งปลาไปกินแลกกับแรงที่ขอออกปากไป เป็นวิถีพึ่งพากันของหมู่บ้านชาวประมงบ้านน้ำเค็ม
สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมในภาวะวิกฤตทำให้ทรัพยากรมีน้อยลง ชาวประมงออกหาปลาได้ไม่มากเท่าเดิม แต่วิถีการเฉปลา วิถีการแบ่งปัน ก็ยังพอมีให้เห็นในหมู่บ้านเล็กๆ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา
ไมตรี จงไกรจักร์
กรรมการมูลนิธิชุมชนไท
ส่งเสริมสิทธิชายฝั่งชุมชนอันดามัน
ผู้ให้สัมภาษณ์
พู่กัน
Writer
แอดมิน ดูแล Stock หลังบ้าน และรักแมวทุกตัวบนโลก